Be a fan on our Facebook CSJOY.COM

Products & Services - สินค้าและบริการ

Our Portfolio - ผลงานของเรา

 

 แต่งชุดไทยให้ถูกแบบในงานแต่ง

"สตรีไทยควรมีเครื่องแต่งกายที่เป็นชุดไทย โดยเฉพาะเหมือนชุดประจำชาติ"

        คือพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้ว จึงทรงศึกษาค้นคว้าตามขั้นตอน และตามหลักวิชาการ โดยทรงศึกษาจากพระบรมรูป พระมเหสีรัชกาลก่อนๆ ในวังหลวง และเจ้านายองค์อื่นๆ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย ค้นคว้าเรื่องเครื่องแต่งกายแบบไทยสมัยต่างๆ แล้วให้ช่างที่มีฝีมือออกแบบตัดเย็บให้ชุดไทยเป็น "ชุดประจำชาติ" ที่สวยงามอ่อนช้อยเหมาะกับบุคลิกภาพของคนไทย
        เมื่อมีชุดไทยที่ถูกต้องตามแบบแผนไทยแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าก็ทรงฉลองพระองค์นำเป็นต้นแบบ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นางสนองพระโอษฐ์แต่งและเผยแพร่ออกไปจนกระทั่ง "ชุดไทยพระราชนิยม" เหล่านี้เป็นที่ยอมรับเพิ่มขึ้นจนกระทั่งปัจจุบัน

 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ ทรงชุดไทยบรมพิมาน

        ปัจจุบันคนไทยนิยมสวมชุดไทยกันในหลายโอกาส โดยเฉพาะในงานสำคัญๆ ต่างๆ แต่ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอเน้นเฉพาะแต่พิธีแต่งงานว่า แต่งงานแบบไทยนั้น เจ้าสาวควรแต่งชุดไทยแบบใดจึงจะสวยงามและถูกต้องตามธรรมเนียม
        ชุดไทยพระราชนิยมที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชทานชื่อชุดตามชื่อพระตำหนัก มี 8 ชุด ด้วยกันคือ

        1. ชุดไทยเรือนต้น มีลักษณะเป็นเสื้อคอกลม ผ่าอกยาวตลอด ติดกระดุม แขนสามส่วน ผ้าซิ่นนุ่งป้ายขาว จรดข้อเท้า ใช้เป็นชุดลำลอง

        2. ชุดไทยจิตรลดา มีลักษณะเป็นเสื้อคอกลมมีขอบตั้ง ผ่าอกตลอด ติดกระดุม แขนยาวถึงข้อมือ ผ้าซิ่นป้ายยาวจรดข้อเท้า ใช้ในพิธีกลางวัน

        3. ชุดไทยอมรินทร์ มีลักษณะเป็นเสื้อคอตั้ง แขนยาว เช่นเดียวกับชุดไทยจิตรลดา แต่ผ้านุ่งเป็นผ้าไหมยก ยกเงินหรือยกทอง นุ่งป้ายเป็นชุดพิธีตอนค่ำ

 

        4. ชุดไทยบรมพิมาน มีลักษณะเป็นเสื้อคอกลมมีขอบตั้ง ผ่าด้านหน้าหรือด้านหลัง ตัวเสื้อติดกับผ้านุ่ง แขนยาวถึงข้อมือ ผ้านุ่งจีบยาวถึงข้อเท้า คาดเข็มขัดแบบไทย ใช้ในงานพิธีตอนค่ำ

        5. ชุดไทยจักรี ประกอบด้วยสไบคลุมไหล่ข้างหนึ่ง ทิ้งชายสไบไปด้านหลัง ผ้านุ่งเป็นผ้ายกนุ่งจีบ มีชายพก คาดด้วยเข็มขัดไทย ใช้ในเวลาค่ำ

 

        6. ชุดไทยดุสิต ลักษณะตัวเสื้อคอกลมกว้าง ปักด้วยไหมพลอย ไข่มุก และดิ้นเงินดิ้นทอง เป็นชุดสำหรับสวมสะพายในพระราชพิธีเต็มยศตอนค่ำ

        7. ชุดไทยจักรพรรดิ ประกอบด้วยผ้าห่มปัก ห่มทับสไบแพรหรือสไบอัดจีบผ้านุ่งจีบมีชายพก ใช้ผ้าไหมหรือผ้ายกคนละสีกับสไบชั้นใน คาดเข็มขัดไทย ใช้ในพิธีเต็มยศตอนค่ำ

        

        8. ชุดไทยศิวาลัย ประกอบด้วยเสื้อแขนยาว คอกลม ผ่าหลัง เย็บติดกับผ้านุ่ง ห่มผ้าปักทับเสื้อ ใช้ได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนที่อากาศค่อนข้างเย็น

        ทั้ง 8 ชุดมีทั้งแบบเรียบและหรูหรามีเอกลักษณ์ความเป็นไทยเหมาะกับรูปร่างและกิริยามารยาท สตรีไทย อีกทั้งสามารถดัดแปลงให้เหมาะแก่ยุคสมัยและสวมใส่ได้หลายแบบจึงเป็นที่นิยมกว้างขวางในหลายระดับและทุกวงการ แต่จะมีใครรู้บ้างว่า
        ชุดเหล่านี้ได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถสิริกิติ์ ผู้ทรงห่วงใยในความเป็นไปของวัฒนธรรมประเพณีไทย นอกจากนี้ยังมีพิธีหนึ่งของงานแต่งที่น่าสนใจ คือ พิธีปูนอน (ส่งตัว) จะมีเครื่องพิธีปูนอนวางไว้ข้างเตียง ซึ่งประกอบไปด้วย
        1. ฟักเขียว หมายถึง ให้บ่าวสาวอยู่เย็นเป็นสุขเหมือนฟัก หนัก (แน่น) เหมือนแฟง
        2. แมวคราว หมายถึง ให้บ่าวสาวอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเหมือนแมวคราว
        3. หินบดยา หมายถึง ให้บ่าวสาว มีความหนักแน่น มั่นคงดุจดั่งหิน
        4. ถุงเงิน ถุงทอง บรรจุข้าวตอกถั่วเขียว งาดำ เงิน-ทอง และดอกไม้ เป็นพืชมงคล มีความหมายเป็นสิ่งที่เจริญ งอกงาม รุ่งเรือง


 พานแหวนหมั้น


ชุดรดน้ำสังข์

 


 เครื่องพิธีขันหมาก

 


 พานธูปเทียนแพ/พานเชิญขันหมาก

       โอวาทที่ผู้ใหญ่มักสอนคู่บ่าวสาวในคืนส่งตัวก่อนเข้าหอ ได้แก่ เรื่องราวที่ไม่พ้นเรื่องเหล่านี้
                โอวาทในการครองเรือน 10 ประการ
                1. ไฟในอย่านำออก หมายถึง ไม่ควรแพร่งพรายความลับ หรือเรื่องไม่ดีงามในครอบครัวออกไป
                2. ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึง ไม่นำเรื่องไม่ดีงามภายนอกเข้ามายังครอบครัว
                3. พึงให้แก่คนที่ให้ ให้ยืมสิ่งของ หรือเงินทองสำหรับผู้คืน
                4. พึงไม่ให้แก่คนที่ไม่ให้ ผู้ที่หยิบยืมแล้วไม่นำมาคืน คราวต่อไปควรหลีกเลี่ยง
                5. พึงให้แก่คนที่ให้และไม่ให้ หมายถึง การสงเคราะห์ญาติ แม้จะคืนของที่ยืมหรือไม่ก็ตามให้พิจารณาความเหมาะสม
                6. พึงนั่งให้เป็นสุข
                7. พึงนอนให้เป็นสุข
                8. พึงกินให้เป็นสุข
                9. พึงบูชาไฟ หมายถึง ยำเกรงสามีหรือบิดามารดาสามี (ภรรยา)
                10. พึงบูชาเทวดา หมายถึง การนับถือมารดาสามี (ภรรยา)
        หน้าที่ของสามีที่มีต่อภรรยา
                1. ให้การยกย่องภรรยาของตน
                2. ไม่ดูหมิ่นภรรยา
                3. ไม่ประพฤตินอกใจภรรยา
                4. มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้
                5. ให้เครื่องประดับตามสมควร
        หน้าที่ของภรรยาที่มีต่อสามี
                1. จัดการงานดี
                2. สงเคราะห์คนข้างเคียงสามี
                3. ไม่ประพฤตินอกใจ
                4. รักษาทรัพย์สมบัติที่สามีหามาได้
                5. ขยันไม่เกียจคร้านกิจการงานทั้งปวง

ที่มา : นิตยสารคู่สร้างคู่สม ปีที่ 22 ฉบับที่ 407
เดือนธันวาคม ปักษ์แรก 2544 หน้า 46-49 โดย ศลิษฏ์

Design by Kanyapak McManus : CSJOY.COM Be a fan on facebook fanpage
CSJOY.COM WEBBOARD-กระดานสนทนา

scarecrow.gif

สวัสดีค่ะ-  กลับเข้าสู่หน้าแรก : Go to main page  สวัสดีครับ

Copyright(c) by CSJOY.COM, All rights reserved. Identification Number of DBD Thailand 0207314801370