Be a fan on our Facebook CSJOY.COM

Products & Services - สินค้าและบริการ

Our Portfolio - ผลงานของเรา

 

อินเตอร์เน็ต : สื่อประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา

การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่องานประชาสัมพันธ์
ประโยชน์ของอินเตอร์เน็ต
การประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่ออินเตอร์เน็ตเพื่อการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา 
ลักษณะเด่นของการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา โดยใช้สื่อประชาสัมพันธ์บนอินเตอร์เน็ต
ข้อควรตระหนักในการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา
ปัจจัยที่ทำให้การประชาสัมพันธ์บนอินเตอร์เน็ตประสบความสำเร็จ

 การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่องานประชาสัมพันธ์

        อินเตอร์เน็ต (Internet) คือ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ที่เชื่อมต่อกันทั่วโลกโดยการเชื่อมโยงระหว่างระบบเครือข่าย หรือเน็ตเวิร์กจำนวนมหาศาลทั่วโลกเข้าด้วยกันภายใต้หลักเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ใช้โปรโตคอลเดียวกัน ซึ่งโปรโตคอลก็คือข้อตกลงที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารของคอมพิวเตอร์ที่ต่อกันเป็นเน็ตเวิร์ก และแต่ละเน็ตเวิร์กก็ต่อกันทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงกันได้โดยสะดวกรวดเร็วไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะอยู่ในรูปแบบใดๆ อาจจะเป็นตัวอักษร ข้อความ ภาพทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว หรือเสียง และประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการสื่อสารข้อมูล ได้แก่ การเข้าใช้ระบบจากทางไกล (telnet) การถ่ายโอนแฟ้ม ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอภิปราย เป็นต้น์
       อินเตอร์เน็ต (Internet) เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ซึ่งเริ่มก่อตั้งโดยกระทรวงกลาโหมประเทศสหรัฐอเมริกา อินเตอร์เน็ตในสมัยแรกๆ (พ.ศ. 2512) เป็นเพียงการนำคอมพิวเตอร์ไม่กี่เครื่องมาเชื่อมต่อด้วยกันโดยสายส่งข้อมูล เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ชื่อว่า "อาร์ปาเนต"  (ARPANET)
       เครือข่ายอาร์ปาเนตเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะมีองค์กรทหาร และมหาวิทยาลัยเป็นผู้สนับสนุนโดยการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาต่อเชื่อมกับอาร์ปาเนต ทำให้ในที่สุดเมื่อมีคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายมากเกินกว่ามาตรฐานการเชื่อมต่อแบบเดิมจะรองรับการขยายตัวได้ จึงได้มีการกำหนดมาตรฐานใหม่ออกมาในปี พ.ศ. 2525
       มาตรฐานใหม่มีชื่อว่า ทีซีพี ไอพี (TCP/IP: Transmission Control Protocol/ Internet Protocol) จากมาตรฐานใหม่นี้เอง ทำให้เครือข่ายอาร์ปาเนตสามารถขยายตัวออกไปได้อีกอย่างรวดเร็ว จนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อกับเครือข่ายกว่า 1,000 เครื่องในปี พ.ศ. 2527
หลังจากปี พ.ศ. 2528 มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Science Foundation TCP/ IP) ได้สร้างระบบเครือข่ายใหม่ชื่อว่า NSFNET ขึ้นมา ซึ่งทางมูลนิธิเจาะจงใช้มาตรฐาน TCP/ IP ทำให้เครือข่าย NSFNET สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอาร์ปาเนตได้ เพราะใช้มาตรฐานเดียวกัน
       ในยุคนั้น มีความนิยมสร้างเครือข่าย TCP/IP กันมาก ซึ่งต่อมา เครือข่ายเหล่านี้ได้ถูกนำมาเชื่อมต่อกับอาร์ปาเนต ส่งผลให้เครือข่ายอาร์ปาเนตเติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีจำนวนคอมพิวเตอร์กว่า 100,000 เครื่อง ในปี พ.ศ. 2532
เนื่องจากคอมพิวเตอร์ซึ่งทำหน้าที่เป็นคอมพิวเตอร์หลักของเครือข่าย NSFNET มีความสามารถสูงที่สุดเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์หลักของเครือข่ายอื่น ทำให้เครือข่าย NSFNET ถูกกำหนดให้เป็นเครือข่ายหลัก หรือที่เรียกว่า แบ็คโบน (Backbone) แทนเครือข่ายอาร์ปาเนต ซึ่งถูกลดบทบาทลงเรื่อยๆ จนถูกยกเลิกการใช้งานไปในที่สุดเราเรียกเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ยังคงใช้งานอยู่ว่า "อินเตอร์เน็ต"
อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยการเชื่อมต่อมินิคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ไปยังมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นประเทศออสเตรเลีย แต่ในครั้งนั้นยังเป็นการเชื่อมต่อโดยผ่านสายโทรศัพท์ ซึ่งสามารถส่งข้อมูลได้ช้าและไม่เป็นการถาวร
       จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2535 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้ทำการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ของสถาบันและมหาวิทยาลัย 6 แห่ง อันได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าด้วยกันเรียกเครือข่ายนี้ว่า "ไทยสาร"
เครือข่ายไทยสารเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการเข้ามาเชื่อมต่อกับเครือข่ายนี้เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยขณะนั้นยังจำกัดอยู่ในวงการศึกษา และการวิจัยเท่านั้น ไม่ได้เป็นเครือข่ายที่ให้บริการในรูปของธุรกิจแต่ทางสถาบันนั้นๆ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
       ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ความต้องการในการใช้บริการอินเตอร์เน็ตจากภาคเอกชนมีมากขึ้น การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) จึงได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชน เปิดบริการอินเตอร์เน็ตให้แก่บุคคลทั่วไปผู้สนใจได้สมัครเป็นสมาชิก โดยตั้งขึ้นในรูปแบบของบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ นิยมเรียกย่อๆ ว่า ISP (Internet Service Provider)
ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ จัดเก็บค่าบริการอินเตอร์เน็ตในรูปแบบธุรกิจสมาชิกบริษัทเหล่านี้ได้แก่ Internet Thailand KSC ComNET, Loxinfo และบริษัทอื่นๆ อีกนับสิบบริษัท ช่วยทำให้การใช้บริการอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยเติบโตเข้าสู่ผู้ใช้ทั่วไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น จนในปัจจุบันมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยนับแสนคน

ประโยชน์ของอินเตอร์เน็ต

       ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจากทั่วโลกทุกวัยและทุกอาชีพสามารถสื่อสารกันโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งศาสนา เชื้อชาติ ระบบการปกครอง หรือแม้กระทั่งกฎหมายของแต่ละประเทศ อินเตอร์เน็ต กลายเป็นสังคมใหม่ขนาดใหญ่ ซึ่งไม่มีสถานที่จริงๆ ในโลก สังคมในอินเตอร์เน็ตจึงได้รับการขนานนามว่า ไซเบอร์สเปซ (Cyberspace) หรือพื้นที่ซึ่งได้จำลองขึ้นมา จากการที่มีคนรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเกิดความต้องการบริการที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละคนซึ่งแตกต่างกัน สามารถแบ่งบริการในอินเตอร์เน็ตได้เป็นดังนี้

1). การบริการทางธุรกิจ
       อินเตอร์เน็ตเป็นลู่ทางใหม่ทางการค้า เพราะผู้ขายสามารถประกอบธุรกิจทางการค้าผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ลูกค้าสามารถชมภาพ และรายละเอียดของสินค้าเพื่อใช้ในการตัดสินใจได้ทันที ณ เครื่องของลูกค้าเอง ผู้ขายเพียงแค่จัดเตรียมข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ของตน ก็สามารถบริการขายลูกค้าได้ทั่วโลกพร้อมๆ กัน โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการประชาสัมพันธ์มากเท่าวิธีอื่น
อินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นตลาดแห่งใหม่เพราะสามารถซื้อสินค้าและชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ตได้โดยตรง เพียงแต่ลูกค้าจะต้องมีบัตรเครดิต โดยการสั่งซื้อสินค้าต่างๆ ได้โดยกรอกหมายเลขบัตรแล้วระบุสินค้าที่ต้องการ และสินค้าจะถูกส่งมาทางไปรษณีย์ และเงินจะถูกหักจากบัญชีเครดิต

2). การบริการข้อมูลข่าวสาร
       สื่อทางอินเตอร์เน็ตสามารถเข้าถึงผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงได้เป็นจำนวนมาก ผู้ผลิตสื่อเผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ต จึงสามารถทำกำไรจำนวนมากจากการขายโฆษณาบนสื่อของตน ทำให้มีผู้สนใจผลิตสื่อรูปแบบต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน
ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญไม่ว่าเรื่องใดๆ สามารถเผยแพร่ความรู้ของตนไปยังผู้คนทั่วโลกได้โดยง่าย เช่น ถ้ามีความชำนาญในการทำอาหารไทยก็สามารถนำข้อมูลการทำอาหารไทยพร้อมกับภาพประกอบไปใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ผู้คนที่สนใจอาหารไทยทั่วโลกได้รับทราบอย่างง่ายดาย ในทางกลับกันก็สามารถค้นหาข้อมูลได้แทบทุกชนิดจากอินเตอร์เน็ต โดยอาจจะอาศัยเครื่องมือค้นหาในอินเตอร์เน็ตซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและมีให้เลือกมากมาย

3). การพบปะและสนทนากับผู้คน
       นอกจากข้อมูลที่เป็นเพียงภาพ และตัวอักษรบนอินเตอร์เน็ต ยังสามารถส่งจดหมายที่เรียกว่า "อีเมล์ (Electronic Mail : e-mail)" หรือพิมพ์ประโยคโต้ตอบกับผู้คนแม้จะอยู่กันคนละซีกโลก ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถคุยโต้ตอบผ่านอินเตอร์เน็ตในลักษณะโทรศัพท์ไปทั่วโลกโดยไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ได้อีกด้วย

4). การบริการซอฟต์แวร์
       ในอินเตอร์เน็ตมีบริการซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยให้ได้ใช้ และสามารถโอนย้ายซอฟต์แวร์จากอินเตอร์เน็ตมาใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย

5). ความบันเทิง
       เนื่องจากอินเตอร์เน็ตสามารถใช้สื่อต่างๆ ได้มากมาย เช่น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียงและภาพสามมิติ จึงมีความสามารถในการนำเสนอความบันเทิงรูปแบบต่างๆ เช่น เพลง รายการวิทยุ เกมส์ ได้เป็นอย่างดี (พันจันทร์ ธนวัฒนเสถียรและกรภัทร์ สุทธิดารา. 2540 : 1-4)
นอกจากนี้มีผู้พยายามนำจุดเด่นของอินเตอร์เน็ตมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งจะขอเพิ่มประโยชน์เป็นข้อที่ 6 ดังนี้

6). การศึกษา
       ในระบบการศึกษาได้นำอินเตอร์เน็ตเข้ามาใช้ในการศึกษามากขึ้น ทั้งช่วยในการสืบค้นข้อมูลและในการเรียนการสอนด้วย

7). การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา
       เนื่องจากสื่ออินเตอร์เน็ตเป็นสื่อที่มีจุดเด่นในด้านของการเข้าถึงได้ตลอดเวลา และไม่จำกัดระยะทาง นอกจากนี้ยังมีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็ว จึงได้มีการนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์หน่วยงาน หน่วยงานทางการศึกษาก็เช่นเดียวกันได้นำเอาสื่ออินเตอร์เน็ตไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา

การประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่ออินเตอร์เน็ตเพื่อการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา

       การประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา คือการนำหลักการของการประชาสัมพันธ์มาใช้ในการประชาสัมพันธ์หน่วยงานทางการศึกษา เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประชาชนเป้าหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้ไปให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ลักษณะเด่นของการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา โดยใช้สื่อประชาสัมพันธ์บนอินเตอร์เน็ต

       การนำสื่ออินเตอร์เน็ตมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับสากล โดยไม่จำกัดกลุ่มและถิ่นที่อยู่ของผู้รับสาร สามารถแพร่กระจายตัวได้ทั่วโลก สื่ออินเตอร์เน็ตสามารถสร้างกระบวนการปฏิสัมพันธ์ในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วโดยการใช้อิเล็คทรอนิกส์เมล์ (E-mail) หรือการประยุกต์ใช้การ chat เพื่องานประชาสัมพันธ์ เป็นต้น นอกจากนี้สื่ออินเตอร์เน็ตยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา เป็นสื่อที่สามารถเปิดรับข่าวสารได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถให้ข่าวสารข้อมูลได้มากกว่าสื่อชนิดอื่นๆ ทั้งข้อความ ภาพและเสียง  และยังเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ ที่ใช้งบประมาณน้อยแต่ผลประโยชน์กว้างไกล ซึ่งสามารถส่งสารไปได้ทั่วโลกได้อีกด้วย นอกจากนี้อินเตอร์เน็ตยังเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่จำเพาะเจาะจง (Selective) มีคุณภาพ มีการศึกษา มีสถานภาพทางเศรษฐกิจดี มีกำลังซื้อ และยังเหมาะกับกลุ่มนิสิตนักศึกษาอีกด้วย ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักในการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา และยังสร้างภาพลักษณ์ให้กับสถาบัน การศึกษาได้ในระดับโลกโดยไม่จำกัดอยู่เพียงท้องถิ่นหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว

ข้อควรตระหนักในการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา

       ในการที่จะใช้สื่ออินเตอร์เน็ตมาใช้ในงานประชาสัมพันธ์หน่วยงานนั้น จะต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
              1. ศึกษาวัตถุประสงค์ของงาน ให้เข้าใจชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดทำเพื่อเผยแพร่ข้อมูลขององค์กรที่ทันสมัย เจาะลึกทุกๆ ด้าน หรือเพื่อชักจูงใจ แก้ไขความเข้าใจผิดต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันการศึกษาที่เกิดขึ้นในระยะนั้นๆ
              2. กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน กลุ่มเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา เป็นกลุ่มที่มีความชัดเจน คือได้แก่ ครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป เป็นต้น
              3. กำหนดกลยุทธ์ในการทำประชาสัมพันธ์บนอินเตอร์เน็ต เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญในการจัดทำและออกแบบ Homepage และ Website บนคอมพิวเตอร์ จึงนิยมที่จะจ้างบริษัทที่รับจัดทำ Homepage ต่างๆ เป็นผู้จัดทำให้ โดยค่าบริการและการ Update ข้อมูลเป็นระยะๆ นั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในการกำหนดงบประมาณในการจัดทำให้เหมาะสม แต่ในปัจจุบันนั้นได้มีโปรแกรมที่ช่วยในการสร้างโฮมเพจมากมาย โดยผู้จัดทำไม่ต้องเขียนคำสั่ง Html ก็สามารถออกแบบ Website ได้ด้วยหน่วยงานของตนเอง ทำให้งบประมาณในการจัดทำโฮมเพจราคาถูก และเป็นการฝึกปรือฝีมือของฝ่ายประชาสัมพันธ์ในการที่จะแพร่กระจายข่าวสารข้อมูลออกไปอีกด้วย

ปัจจัยที่ทำให้การประชาสัมพันธ์บนอินเตอร์เน็ตประสบความสำเร็จ

       ในการดำเนินการจัดทำประชาสัมพันธ์บนอินเตอร์เน็ตให้ประสบความสำเร็จได้นั้น มีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้
              1. ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการศึกษา ให้ความสำคัญกับการจัดทำประชาสัมพันธ์ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปของนวัตกรรม รู้จักสื่อชนิดนี้ และให้ความร่วมมือด้วยดี
              2. การร่วมมือทำงานเป็นทีม ในการทำงานดูแลเว็บได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีม ระหว่างฝ่ายประชาสัมพันธ์กับฝ่ายเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ในอันที่จะดูแลเว็บให้มีคุณภาพ และมีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ

       จะเห็นได้ว่าในการนำสื่ออินเตอร์เน็ตมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษานั้น นับว่ามีความจำเป็นและมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีฐานจากผู้ใช้ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา ตลอดจนพนักงานบริษัทเป็นจำนวนมากที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประจำ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวนี้จะกลายเป็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกลุ่มหลัก ที่เห็นความสำคัญของการประชาสัมพันธ์บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต อีกทั้งได้มีโปรแกรมต่างๆ ที่ช่วยสร้างโฮมเพจให้ประชาสัมพันธ์ในสถาบันการศึกษาได้ใช้ และสร้างสรรค์งานประชาสัมพันธ์ให้มีคุณภาพ และมีความรวดเร็ว เพื่อเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์อีกประเภทหนึ่งที่กำลังมีบทบาทสำคัญยิ่งต่องานประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา อีกทั้งอินเตอร์เน็ตเองก็ถือเป็นสื่อที่นำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงถือว่าเป็นการนำสื่ออินเตอร์เน็ตมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง

ที่มา :  เทคโนโลยีสื่อสารการศึกษา (85-90) โดย เสกสรร สายสีสด
เนื้อหาประกอบสารนิพนธ์ "การออกแบบและสร้างเว็บไซต์ของ รร.ชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี"
จัดทำโดย : กัญญาภัค แม๊คมานัส

Design by Kanyapak McManus : CSJOY.COM Be a fan on facebook fanpage
CSJOY.COM WEBBOARD-กระดานสนทนา

scarecrow.gif

สวัสดีค่ะ-  กลับเข้าสู่หน้าแรก : Go to main page  สวัสดีครับ

Copyright(c) by CSJOY.COM, All rights reserved. Identification Number of DBD Thailand 0207314801370