Be a fan on our Facebook CSJOY.COM

Products & Services - สินค้าและบริการ

Our Portfolio - ผลงานของเรา

holland_back.gifholland_back.gif60 ปีพ่อของแผ่นดิน : The King of Thailand holland_next.gifholland_next.gif

พระราชประวัติโดยสังเขป พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โหลดเอกสาร PDF

@ รัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 9 พร้อมพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ @พระราชประวัติ @ พระราชกรณียกิจ @ พระบรมวงศานุวงศ์ @ พระราชพิธีสำคัญ

            พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ตั้งแต่อดีตตราบจนปีพุทธศักราช 2549 มีทั้งหมด 9 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันท-มหิดล  และรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระบรมราชสมภพเมื่อวันจันทร์ขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พุทธ-ศักราช 2470 เวลาแปดนาฬิกาสี่สิบห้านาที ณ โรงพยาบาลเมานต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซ็ทท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สามของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ซึ่งต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรม-ราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับพระราชทานพระนามจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งเป็นพระอนุชาของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช "ภูมิพล" แปลว่า พลังของแผ่นดิน พระองค์มีพระโสทรเชษฐภคินี คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรม-ราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 ทรงได้รับอัญเชิญให้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ สืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

            หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยต้องทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและรัฐศาสตร์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ระหว่างประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุมเมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 และในวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงเปล่งปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" 

            หลังจากนั้น ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จากสมเด็จพระอนุชาสู่ตำแหน่งพระประมุขแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงละทิ้งความสุขสำราญส่วนพระองค์มาทรงรับพระราชภารกิจอันหนักหน่วง นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แก่พสกนิกรว่า พระองค์ทรงเป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์

           หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่แพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เมื่อวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2494 หลังจากนั้น 7 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัติพระนคร ซึ่งต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกสามพระองค์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธ-ศักราช 2495  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2498 และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2500

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชในวันที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2499 โดยสมเด็จพระสังฆราช พระวชิรญาณวงศ์ ทรงพระราชทานพระสมณนามพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "ภูมิพโล"

           ตราบจนปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย กำลังพระปัญญา และกำลังพระราชทรัพย์ ตลอดจนทรงนำสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรม-ราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจขจัดทุกข์บำรุงสุขพสกนิกร ด้วยพระเมตตากรุณาถ้วนหน้า จนยากที่จะพรรณนาได้ทั้งหมด

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำในการพัฒนาประเทศ ทรงมุ่งมั่นทำสงครามกับความยากจนของราษฎรด้วยพระองค์เอง ทรงพระราชดำริริเริ่มค้นคิดหาลู่-ทางต่างๆ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ทรงทดลองกิจกรรมต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงติดตามผล เมื่อทรงประจักษ์ว่า วิธีการหรือโครงการที่ทรงพระราชดำริขึ้นนั้นเป็นผล สามารถเอื้ออำนวยประโยชน์แก่ราษฎรได้แน่นอนแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำไปเผยแพร่เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ราษฎรได้นำไปปฏิบัติต่อไป เช่น การชลประทาน การพัฒนาแหล่งน้ำ ฝนหลวง การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การสำรวจด้านอุตุนิยมวิทยา การศึกษา การพึ่งพาตนเองของชนบท งานสำรวจและแผนที่ การคมนาคมขนส่ง การป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร การสื่อสาร และการต่อเรือรบ

           เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พุทธศักราช 2549 นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล หัวหิน เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล "ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์" อันเป็นรางวัลแรกที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชา-ชาติจัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติที่เกิดขึ้นจากพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อพสกนิกรชาวไทย ที่ทรงยึดถือเป็นพระราชจริยวัตรมาตลอดระยะเวลายาวนานในการครองราชย์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

           เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และพระราชจริยวัตรตรงต่อพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลกว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ประเทศใดๆ ในโลก

           ปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรได้ปฏิบัติ อันเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความพออยู่พอกิน ไม่เกินตัว เพื่อความมั่นคง และยั่งยืนของการดำรงชีวิต ทรงสร้างความอุดมสมบูรณ์ และความร่มเย็นเป็นสุขแก่แผ่นดินไทยโดยแท้...

king

อศิรวาทราชสดุดี

พระร่มโพธิ์ ร่มไทร ไทยทั้งชาติ  

ร่มเกล้าราษฎร์ ร่มใบบุญ คุณล้ำเหลือ

พระเป็นแสง แห่งตะวัน อันอุ่นเอื้อ

การุณย์เกื้อ เพื่อราษฎร์สุข หมดทุกข์ภัย

พระเป็นแสง แห่งจันทร์เพ็ญ เย็นร่มรื่น

เมตตาธรรม นำชื่นชม สมสมัย

พระเป็นหลัก เป็นเอกลักษณ์ ศักดิ์ศรีไทย

ธ รวมใจ รวมราษฎร์ ชาติเจริญ

        ประพันธ์โดย ดร.มานิตย์ เอื้อทวีกุล ประธานคณะกรรมการจัดงานเฉลิมฉลองในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งใช้กล่าวในวันมหามงคลเฉลิมฉลองในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ฑีฆมหาราชา พระบิดาประเทศไทย

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกประทับที่สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีประชาชนชาวไทยนับล้านเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายพระพรเนื่องในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยมีพระราชดำรัส ซึ่งต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า

       "ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ในท่ามกลางมหาสมาคม พร้อมพรั่งด้วยบุคคลจากทุกสถาบันในชาติ ตลอดจนประชาชนชาวไทย ขอขอบใจในคำบัตรอวยพร และการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ที่ทุกคนตั้งใจจัดให้ข้าพเจ้าเป็นพิเศษ รัฐบาลได้จัดงานครั้งนี้ได้เรียบร้อยและงดงาม

            น้ำใจไมตรีของประชาชนชาวไทยที่ร่วมกันแสดงออกทั่วประเทศ มีทั้งที่พร้อมเพรียงมากันในวันนี้ น่าปลาบปลื้มใจมาก เพราะแต่ละคนได้แสดงออก และตั้งใจมาด้วยความหวังดีจากใจจริง จึงขอขอบใจทุกๆ คน

             จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคน ทุกฝ่าย ทำให้ข้าพเจ้าเห็นแล้วมีกำลังใจมากขึ้น..."

เขียนและเรียบเรียง : กัญญาภัค  แม๊คมานัส

ขอบคุณข้อมูล : นิตยสาร สกุลไทย, นสพ. สยามกีฬา, และ นสพ. โพสต์ทูเดย์

Design by Kanyapak McManus : CSJOY.COM Be a fan on facebook fanpage
CSJOY.COM WEBBOARD-กระดานสนทนา

scarecrow.gif

สวัสดีค่ะ-  กลับเข้าสู่หน้าแรก : Go to main page  สวัสดีครับ

Copyright(c) by CSJOY.COM, All rights reserved. Identification Number of DBD Thailand 0207314801370