Be a fan on our Facebook CSJOY.COM

Products & Services - สินค้าและบริการ

Our Portfolio - ผลงานของเรา

 

งานสงกรานต์ศรีมหาราชา และประเพณีกองข้าว
19-21 เมษายน ของทุกปี ณ บริเวณเกาะลอยศรีราชา


จอมพลมหาอำมาตย์เอก
เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
(ท่านเจ้าคุณ) ผู้ก่อตั้งเมืองศรีราชา

ซอสพริกอร่อย  

เกาะลอยงามล้ำ

อุตสาหกรรมรุ่งเรือง

เมืองเจ้าพระยาสุรศักดิ์

อนุรักษ์เต่าทะเล     

ประเพณีกองข้าว

เกาะลอยศรีราชาในอดีต
ถ่ายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2490

รักษ์สงกรานต์ ร่วมสืบสานประเพณีไทย

           ตามตำนานสงกรานต์แต่ดั้งเดิมนั้น เชื่อว่าพี่น้องชาวไทยคงได้ยินจากพ่อเฒ่า แม่เฒ่าเล่าให้ฟังบ้าง หรือหากลืมเลือนไปแล้วนั้น ก็จะบอกให้รู้อย่างย่อถือเสมือนว่านี่คือเสียงเล่าขานจากแม่เฒ่าคนหนึ่งก็แล้วกัน

           บทที่แม่เฒ่านำมาเล่านี้ได้มาจากศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนว่าไว้ เศรษฐีคนหนึ่งไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราซึ่งมีบุตรสองคนมีผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่งนักเลงสุรานั้นเข้าไปกล่าวคำหยาบช้าต่อเศรษฐี เศรษฐีจึงถามว่า "เหตุใดมาหมิ่นประมาทต่อเราผู้มีสมบัติมาก" นักเลงสุราจึงตอบว่า "ถึงท่านมีสมบัติก็ไม่มีบุตร ตายแล้วสมบัติก็จะสูญเปล่าเราผู้มีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่า"

           ท่านเศรษฐีมีความละอาย จึงบวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งอธิษฐานขอบุตรถึงสามปีก็มิได้บุตร อยู่มาถึงวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ พระอาทิตย์ยกขึ้นราศีเมษ เศรษฐีจึงพาบริวารไปยังต้นไทร อันเป็นที่อยู่แห่งฝูงนกทั้งปวง จึงเอาข้าวสารล้างน้ำเจ็ดครั้งแล้วหุงขึ้นบูชาพระไทรประโคมพิณพาทย์ ตั้งอธิษฐานขอบุตรพระไทรมีความกรุณาจึงเหาะเฝ้าพระอินทร์

           พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฎิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อคลอดแล้วจึงให้ชื่อ ธรรมบาลกุมาร ปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ใต้ต้นไทรริมฝั่งน้ำ กุมารเจริญขึ้นก็รู้ภาษานก แล้วเรียนไตรเพทจบ เมื่ออายุได้เจ็ดขวบได้เป็นอาจารย์บอกมงคลกาลต่างๆ แก้มนุษย์ทั้งปวง

           ในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่งว่าเป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบจึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมารสามข้อ โดยสัญญาไว้ว่าถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศรีษะบูชา แต่ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศรีษะธรรมบาลกุมารเสีย

            ปัญหานั้นถามว่า ข้อ 1 เช้าราศีอยู่แห่งใด ข้อ 2 เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ข้อ 3 ค่ำราศีอยู่แห่งใด ธรรมบาลกุมารขอผลัดเจ็ดวัน

            ครั้งล่วงไปแล้วเจ็ดวัน ธรรมบาลกุมารยังคิดไม่ได้ จึงนึกว่าวันพรุ่งนี้จะตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรีย์สองตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีย์ถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารจากแห่งใด สามีบอกว่าจะได้กินศพธรรมบาลกุมารซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสียเพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่าปัญหานั้นว่าอย่างไร สามีจึงบอกว่าปัญหามีว่า "เช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด"

             นางนกถามว่าจะแก้อย่างไร สามีจึงบอกว่า "เช้าราศีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า"

             ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นก็กลับไปปราสาท ครั้งรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถามปัญหาธรรมบาลกุมาร ก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกันแล้วบอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้ท่วมโลก ถ้าจะทิ้งขึ้นอากาศฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำจะแห้งจึงให้ธิดาทั้งเจ็ดเอาพานมารับศีรษะแล้วก็ตัดศีรษะให้ธิดาองค์ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับเศียรบิดาไว้ แล้วแห่ทำประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการชื่อ ภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมูลาดลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุกพระองค์ ครั้นถึงครบกำหนด 365 วันโลก สมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์นางเทพธิดาทั้งเจ็ดองค์จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ประทักษิณเขาพระเมรุทุกปีแล้วกลับไปเทวโลก

              ที่จารึกในวัดพระเชตุพน มีใจความดังกล่าวมานี้

              เรื่องที่แม่เฒ่านำมาเล่านั้นยังมีเรื่องของชื่อเทพธิดาทั้งเจ็ดองค์ซึ่งเป็นชื่อประจำวันทั้งเจ็ด

              วันอาทิตย์ ชื่อ ทุงษ, วันจันทร์ ชื่อ โคราด, วันอังคาร ชื่อ รากษส, วันพุธ ชื่อ มัณฑนา, วันพฤหัส ชื่อ กิริณี, วันศุกร์ ชื่อ กิมิทา และวันเสาร์ ชื่อ มโหทร

ความหมายของคำที่เกี่ยวข้องในวันสงกรานต์

               สงกรานต์ แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ย่างขึ้น" หมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือนที่เรียกว่า สงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ 12 เดือน แล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่า เป็นวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติในทางโหรศาสตร์

               มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึง สงกรานต์ปี คือ ปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือ สงกรานต์หมายได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์นั้นหมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว

               วันเนา แปลว่า "วันอยู่" คำว่า "เนา" แปลว่า "อยู่" หมายความว่า เป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา 1 วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีตั้งแต่ปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทางในวันราศีใหม่ตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว

                วันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เลื่อนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ 3 ถึดจากวันมหาสงกรานต์ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียกร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่จะเปลี่ยนศก ถ้าเลื่อนวันเ๔ลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็นวันที่ 3 ก็หมายความว่าอย่างน้อย ดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ไม่น้อยกว่า 1 องศา แล้วอาจจะย่างเข้าสู่องศาที่ 2 หรือที่ 3 ก็ได้

กองข้าว

               กองข้าว เป็นประเพณีท้องถิ่นของ จ.ชลบุรี โดยแท้ที่สืบทอดต่อกันมาตามประวัติ เล่าว่าประเพณีกองข้าวจัดในหลายอำเภอ อาทิเช่น อ.เมืองชลบุรี, อ.ศรีราชา, อ.บางละมุง, อ.พนัสนิคม ฯลฯ ครั้นกาลเวลาล่วงเลยผ่านไปในบางพื้นที่ประเพณีนี้ได้เลือนหายไป

               ที่ศรีราชายังคงอนุรักษ์ไว้อย่างต่อเนื่องและเหนียวแน่น จนกระทั่งกลายเป็นประเพณีเอกลักษณ์ของชาวศรีราชา โดยเฉพาะเมื่อเทศบาลเมืองศรีราชา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดงานกองข้าวศรีราชา เริ่มแต่ปี 2536 เป็นต้นมา โดยกำหนดจัดงานประเพณีระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน ของทุกปี

               ในอดีต เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ชาวบ้านจะนัดหมายกันนำสำรับข้าวปลาอาหารทั้งคาวหวานมากองรวมกันแล้วเชิญภูติ ผีทั้งหลายมากินปีละครั้ง โดยเชื่อว่าภูตผีจะไม่ทำอันตราย ชีวิตครอบครัวหรือทรัพย์สินของตนเอง หลังพิธีเซ่นไหว้ชาวบ้านจะล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกันมีการร้องรำทำเพลง การละเล่นสนุกสนาน มีเกร็ดว่าทุกคนจะไม่นำอาหารที่เหลือกลับบ้าน แต่จะทิ้งไว้เพื่อเป็นทานแก่สัตว์

               เทศบาลเมืองศรีราชาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดงานประเพณีกองข้าว นอกจากการกองข้าวอันเป็นหัวใจของงานแล้ว ยังได้เพิ่มกิจกรรมเพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นสีสันของงาน อาทิ มวยตับจาก, เพลงพื้นบ้าน, ดนตรีไทยประยุกต์, ประกวดเทพีกองข้าว, กีฬาพื้นบ้าน และซุ้มอาหารไทย ฯลฯ

               ประเพณีกองข้าว จึงได้รับการยกระดับปรับตัวให้เป็นเอกลักษณ์ประเพณีที่โดดเด่น ชาวศรีราชาทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมและอนุรักษ์ประเพณีกองข้าว

มวยตับจาก

                 มวยตับจาก เป็นกีฬาพื้นบ้านยอดนิยมของภาคตะวันออกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.ชลบุรี เพราะเนื่องจากมีการปลูกจากเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันกีฬาประเภทนี้สูญหายไปด้วยเหตุที่ป่าจากลดน้อยลงอุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขันคือ ใบจากแห้งจำนวนมากเพื่อปูให้ทั่วพื้นเวที และเชือกสำหรับขึงเวทีนักมวยทั้งคู่จะผูกตาด้วยผ้า และจับให้อยู่คนละมุม มีกรรมการกลางอยู่บนเวที 1 คน จากนั้นเมื่อมีสัญญาณเริ่มชก นักมวยจะเดินออกจากมุมเพื่อหาคู่ต่อสู้และต่อยกัน โดยจะใช้ฟังเสียงลั่นกรอบแกรบๆ ของใบจากแห้งที่ปูไว้เพื่อจับทางคู่ต่อสู้ของตนกติกาการต่อยคือใครต่อยเข้าเป้ามากที่สุดก็จะได้คะแนน ใครได้คะแนนมากเป็นฝ่ายชนะ ชก 3 ยก ยกละ 2 นาที มวยตับจาก จัดเป็นกีฬาพื้นบ้านที่เสริมสร้างไหวพริบในการฟังเสียงได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่น่าเสียดายว่ากีฬาประเภทนี้ได้สูญหายไปแล้ว ตามกาลเวลาที่ผ่านมา

รำวงย้อนยุค

                   รำวง ในช่วงแรกมักนิยมเล่นเพลงปลุกใจ ประกอบจังหวะรำวงโดยใช้กลองและเครื่องประกอบจังหวะ โดยใช้ลูกซัด ฉิ่งฉับ ฯลฯ และมีนางรำ นักร้องเพลงเชียร์ รำวงเพลงเก่าๆ ที่นิยมใช้ร้องกันแต่โบราณก็มีเพลง ตาแก่อยากมีเมียสาว, ป๊อกช่าป๊อก, เพลงหวานใจ ฯลฯ เพลงที่นิยมจนถึงถึงปัจจุบัน คือเพลงดาวพระศุกร์

                   ต่อมาได้เกิดกระแสนิยมใช้เครื่องดนตรีต่างประเทศประเภทเครื่องเป่ามาบรรเลง เช่น แซกโซโฟน, ทรัมเปต, หีบเพลงชัก ฯลฯ จังหวะรำวงจึงมีความเป็นสากลมากขึ้น เช่น จังหวะชะ ชะ ช่า, ม้าย่อง, กัวลาช่า, บีกิน เป็นต้น เพลงที่ใช้ร้องเป็นเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง และเพลงสากลก็มี ทำให้รำวงสมัยก่อนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายมีการตั้งคณะรำวงรับจ้างไปแสดงในงานทั่วๆ ไปในงานวัด งานรื่นเริง ในจังหวัดชลบุรีมีคณะรำวงที่มีชื่อเสียงไปแสดงทั่วประเทศ ได้แก่ เรียม ดาราน้อย, ชาตรี ศรีชล, บุปผา สายชล เป็นต้นในศรีราชา ก็มีคณะรำวง "คณะสงวนชล" อยู่ที่อ่าวอุดม

                   รำวงคณะหนึ่งประกอบด้วยนางรำอย่างน้อย 20-30 คน โดยตั้งเวทียกสูงประมาณ 1-1.50  เมตร กำหนดเป็นรอบๆ ละประมาณ 8-10 นาที ก่อนรำวงจะมีการรำถวายมือ เพื่อเป็นการคารวะครูบาอาจารย์ เจ้าที่เจ้าทาง ถือเป็นการโชว์ตัวนางรำไปด้วย เวทีรำวงจะมีที่จำหน่ายตั๋วแรกๆ ราคา 1-2 บาท อย่างสูงไม่เกิน 5 บาท ผู้รำก็จะขึ้นไปรำกับนางรำที่ตนพอใจ และหยุดรำต่อเมื่อได้ยินสัญญาณเป่านกหวีดและบางครั้งก็มีการเหมารอบเฉพาะของพวกตนก็มี

การสูญหายของรำวง

                   จุดเด่นของรำวงอยู่ที่นางรำ ซึ่งเป็นจุดสนใจให้บรรดาผู้ชมซื้อตั๋วเข้ามารำวงกับคณะนางรำที่มีรูปร่างหน้าตาดี และมีการติดตามคณะรำวงที่ตนสนใจไปตามงานต่างๆ ทำให้เกิดการเขม่นกับทางเจ้าถิ่น ด้วยสาเหตุนี้ทำให้เกิดการแย่ง "นางรำ" กันขึ้น จนเป็นสาเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทจนยากแก่การควบคุมทำให้ทางราชการต้องสั่งยกเลิก ห้ามมีการแสดงรำวงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จัดทำโดย : เทศบาลเมืองศรีราชา

 

การกลับมาอีกครั้งของรำวง

                   ด้วยกระแสตระหนักแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น และการอนุรักษ์ความเป็นไทย เทศบาลเมืองศรีราชา จึงได้นำการแสดง "รำวง"กลับมาอีกครั้ง ในรูปแบบของ "รำวงย้อนยุค" ในงานประเพณีกองข้าว ปี 2541 ในรูปแบบที่เน้นเอกลักษณ์ของศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน เชิญทุกท่านร่วมสืบสานความเป็นไทยกับการแสดง "รำวงย้อนยุค" ในงาน ประเพณีกองข้าว

Design by Kanyapak McManus : CSJOY.COM Be a fan on facebook fanpage
INBOX TO CSJOY.COM

 scarecrow.gif

สวัสดีค่ะ:Sawasdee Ka  กลับเข้าสู่หน้าแรก : Go to main page  สวัสดีครับ:Sawasdee Krab

Copyright(c) by CSJOY.COM, All rights reserved. Identification Number of DBD Thailand 0207314801370